วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

0082 กรรมวิธีของการปรุง

   พฤติหรือกรรมวิธีของการปรุง เอาเฉพาะมนุษย์เรากันดีกว่า สำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันนัก สำหรับมนุษย์เรา มันก็มีมาตั้งแต่ในท้อง ตั้งแต่ปฏิสนธิในท้อง มีไข่ของมารดา มีเชื้อของบิดา ปรุงกัน ตอนนั้นยังไม่ใช่จิต ยังไม่เป็นจิต ยังไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน แต่ก็เป็นการปรุงแล้ว คือไข่ของมารดากับเชื้อของบิดา ถึงกันเข้าด้วยการอยู่ร่วมกัน มันก็มีการปรุงแล้ว

   ไข่นี้มันเจริญๆ เจริญจนเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุเข้าไปอาศัยได้ในสังขารก้อนนี้ แล้วก็รู้สึกอะไรได้ อาศัยธาตุครบทั้งหก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ฯลฯ จนมันตั้งต้นชีวิตทารกนิดๆ ขึ้นมาในครรภ์ เป็นกลุ่มชีวิตขึ้นมาในครรภ์ แล้วก็เจริญขึ้นด้วยความรู้สึก มีความรู้สึกมากออกไปเท่าไร ความเจริญทางจิตใจก็มากขึ้นเท่านั้น นั่นแหละคือการปรุง คือมันปรุงให้มากขึ้นๆๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ปรุงเป็นดีขึ้น จิตวิญญาณก็ดีขึ้น การรวมหน่วยกันก็ดีขึ้น มันเลยเป็นทารกที่มีความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ ในที่สุดก็คลอดออกมาเป็นทารก นี่คือการปรุง จิตก็เจริญด้วยสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม

   ทารกนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มาแต่ในท้อง ฉะนั้นมันจึง คิดไปในทางที่จะให้เป็นทุกข์ เพราะมันไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ ครั้นต่อมามันเกิดเป็นคน เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว มันก็ ปรุงไปแต่ในทางที่เป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์-เป็นทุกข์-เป็นทุกข์ จนเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นชีวิตแห่งความทุกข์

   ทีนี้มัน จะเริ่มต้นปรุงอีกชนิดหนึ่ง คือว่าเกิดสติปัญญาขึ้นมาว่า อย่างนี้ไม่ไหว ๆ อย่าไปติด-ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอารมณ์เ หล่านั้นจะดีกว่า จนคนเรามีความรู้เรื่องว่า ไม่ปรุงนั่นแหละดีกว่า ฉะนั้น จึงขวนขวายไปในทางที่จะไม่ปรุง คิดว่าครองบ้านครองเรือนอยู่นี้ มันทำยาก มันปรุงเรื่อยไป ออกไปบวชดีกว่า ไปอยู่ในป่า ในถ้ำ ในเขา ดีกว่า มันจะง่ายขึ้นในการที่จะไม่ปรุง เขาก็ไปบวช เขาก็ค้นหาการที่จะไม่ปรุง นี่จึงเกิดบุคคลขึ้นมาประเภทหนึ่ง คือพบความไม่ปรุง พบวิธีที่จะไม่ปรุง นี่เป็นพระอริยเจ้า กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า พบเรื่องไม่ปรุงนั่นเกิดขึ้นมา

   ถ้ายังปรุง ยังเป็นทุกข์ ต่อเมื่อไม่ปรุง จึงจะไม่ทุกข์ แม่ว่ายังรับอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกันแท้ๆ แต่คนหนึ่งมันปรุง คนหนึ่งมันไม่ปรุง คิดดูสิ นี่มันจะพบกันได้ที่นี่ว่า ไม่ต้องตายหรอก เราก็ไม่ปรุงได้ เราหยุดปรุงได้ เพราะว่าเรามีสติปัญญาพอ ที่จะไม่หลง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบ แล้วเราก็ไม่ปรุง ไม่ปรุงนี้คือว่าดับสังขาร หยุดสังขาร ดับสังขารเสียได้โดยไม่ต้องตาย ยังมีชืจิตอยู่ที่นี่แหละ แต่ควบคุมการปรุงแห่งจิตใจได้ นี่เรียกว่าดับสังขารเสียได้ โดยที่ไม่ต้องตาย ดับสังขารก็คือไม่ปรุง แล้วก็ไม่ตายด้วย แล้วก็ไม่มีความทุกข์ด้วย ได้เสวยสุขโดยสมมติว่า สุขอย่างยิ่ง สุขสูงสุด คือพระนิพพาน นี่คือการไม่ปรุงหรือวิสังขาร

   นี่มันคือจิตล้วนๆ จิตที่ไม่รู้อะไรมาแต่ในท้อง แล้วจู่ๆ จิตมารู้ผิดๆ โดยกานยึดมั่นถือมั่นและปรุง พอปรุงแล้วจนเข็ด จึงค่อยๆรู้ว่า ไม่ปรุงดีกว่า รวมแล้วเป็นสามขั้นตอน เป็นเรื่องของจิตล้วนๆเลย นี่คือทั้งหมดของชีวิตมนุษย์เรา ตั้งแต่ต้นจนถึงนิพพาน จิตล้วนๆ จิตโง่เสียตอนหนึ่ง แล้วก็จิตฉลาดถึงที่สุดเสียตอนหนึ่ง ก็รู้เรื่องความไม่ปรุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...