วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วิปัสสนากรรมฐาน 0377

0377   วิปัสสนากรรมฐาน  (ต่อจากเมื่อวาน)

    สำหรับหมวดธรรมที่เหลือจะทำอย่างไร

    เมื่อขึ้นวิปัสสนาให้เริ่มเจริญอิทธิบาท ๔   ขณะที่กายโยกไปมาทางซ้ายขวานั้น ก็ให้ภาวนาอิทธิบาท ๔ ตามไปด้วย   คือท่องในใจว่า ฉันทะ ความพอใจผลของการปฏิบัติ วิริยะ ความเพียรในธรรมที่ปฏิบัติอยู่   จิตตะ ความเอาใจใส่ในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ วิมังสา การใช้จิตตรึกตรองในธรรมที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดละออ   ท่องไปช้าๆ ๔ เที่ยว การท่องนอกจากจะเป็นการภาวนา หรือบริกรรมในธรรมหมวดนี้แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดนี้เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง   กล่าวคือ เมื่อภาวนาไปสัก ๒ เที่ยวแล้วก็สำรวจว่าฉันทะหรือความพอใจ เรามีความพอใจต่อการปฏิบัติหรือไม่ วิริยะหรือความเพียร ได้เพียรปฏิบัติมากน้อยเพียงใด   จิตตะหรือใจที่จดจ่อ เราจดจ่อต่อการปฏิบัติแค่ไหน วิมังสาหรือใคร่ครวญประมวลผล เราได้ไตร่ตรองใคร่ครวญในธรรมและผลของการปฏิบัติหรือไม่ การตรวจสอบธรรมเหล่านี้ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมาก   เดี๋ยวจิตจะฟุ้งไปในความคิด

    ในขณะที่เราภาวนาอยู่กับองค์ธรรมของอิทธิบาท ๔   คือท่องฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอยู่นั้นสติต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา   แม้จะหลับตาแต่ก็เหมือนกับว่าสายตาของเราทอดไปในระยะปลายนิ้วของแขนที่เหยียดออก คือ คะเนว่าถ้าเหยียดแขนไปตรงๆ   ปลายนิ้วสุดตรงที่ใด ก็ให้สายตาของเราพักอยู่ตรงหน้า ณ จุดนั้น ที่ต้องกำหนดจุดพักสายตาไว้ตรงนั้น ก็เพราะว่าขณะที่ภาวนาอยู่นั้นอาจจะมีนิมิตเป็นภาพเกิดขึ้นที่ตรงนั้น   ภาพนิมิตที่เกิดขึ้นนี้อย่าไปนึกอยากให้มันเกิด แต่ถ้ามันเกิดก็ปล่อยให้มันเกิดตามเหตุตามปัจจัยของมันและมันจะเป็นภาพอะไรก็แล้วแต่ขอให้เรามีหน้าที่รู้ว่ามีสิ่งใด แล้วก็ละเสีย   อย่าไปชอบอย่าไปชัง เพราะถ้าชอบก็เป็นกิเลสฝ่ายราคะ (ความรักใคร่พอใจ) หรือ โลภะ (ความโลภอยากได้ของเขา) ถ้าไปชังก็เป็นกิเลสฝ่ายโทสะ (ความโกรธ) ถ้าเราไปหลงยึดติดก็จะเป็นกิเลสฝ่ายโมหะ  (ความหลงไม่รู้) นอกจากนี้การหลงยึดติดในนิมิต ก็ยังเป็นวิปัสสนูปกิเลสอีกด้วย

  (ต่อพรุ่งนี้ครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...