0359 คำถามเกี่ยวกับการทำฌาน ๔
๔. ถาม ผู้ที่ได้ปิติอ่อนๆ อาจจะอยู่ในฌาน ๑ ไม่ถึงฌาน ๒ ในทำนองเดียวกันผู้ที่ได้สุขอ่อนๆก็อาจจะอยู่ในฌาน ๒ ไม่ถึงฌาน ๓ก็ได้ ใช่หรือไม่
ตอบ ไม่ใช่ ฌาน ๑ ก็ฌาน ๑ ฌาน ๒ ก็ฌาน ๒ คือจิตนี้สามารถเข้าออกได้อยู่ทุกขณะ ฉะนั้นต้องมีความละเอียด คือ สติให้รู้ชัดว่าจิตมีอารมณ์อย่างไร อยู่ในฌาน ๑ หรือฌาน ๒ ต้องรู้ให้ชัดโดยอาศัยความสังเกตุของเราเอง ถ้าจิตหยุดคิดได้ชั่วขณะ ก็อยู่ในฌาน ๑ และถ้ามีปิติเกิดขึ้น เช่น อาการขนลุกขนพอง หรือกายโยกไปมา ก็อยู่ในฌาน ๒แล้ว ถ้ามีการโยกหน้าหลัง ก็บังคับให้หยุดเสียอย่าปล่อยให้โยกแรงเดี๋ยวหัวจะโขกพื้นหรือหงายหลังไปเสีย ให้เปลี่ยนไปโยกซ้ายขวาแทน ถ้ารู้ว่ากายสบาย สบายใจหรือรู้สึกเฉยๆ ก็แสดงว่าอยู่ในฌาน ๓ ลักษณะของฌาน ๓ คือจิตมี ๒ อารมณ์ คือสุข หรือเฉยๆ ไม่มีทุกข์ จิตจะตั้งมั่นได้นานกว่าฌาน ๒ ถ้าท่อง เกศา โลมา ช้าๆ จิตก็จะละเอียดขึ้น ๆ ถ้าเริ่มรู้สึกนิ้วมือชา หรือเท้าช้า หรือริมฝีปากชา ก็แสดงว่าฌาน ๓ แก่กล้าขึ้น ถ้าอาการชาชัดเจนขึ้นและลามมาถึงกึ่งกลางข้อมือและตัวเกร็งขึ้นมาก็แสดงว่าจิตเข้าถึงฌาน ๔ แล้ว พอถึงฌาน ๔ สุขก็จะไม่มี มีแต่อุเบกขา เมื่อเราทำฌาน ๔ สมบรูณ์ทุกอย่างแล้ว จากประสบการณ์ที่พบมาจิตมันจะเข้าออกในฌานต่างๆ ได้คล่องทั้งฌาน ๑,๒.๓.๔ พระพุทธองค์สอนว่าธรรมทั้งหลายเราทำให้มีให้เป็นขึ้น เพราะฉะนั้นที่เรานั่งภาวนา เกศา โลมา ก็เป็นการทำให้มี ให้เป็น พอทำเป็นฌานแล้ว หรือทำให้มีให้เป็นแล้วก็จะเป็นธรรมขึ้นมา เรียกว่า ธรรมในธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น