0361 คำถามเกี่ยวกับการทำฌาน ๔
๕. ถาม การทำฌาน ๒ โดยใช้มือสั่นช่วย เพื่อให้เกิดอุพเพงคาปิติอย่างแรง เมื่อทำไปแล้วไม่แน่ใจว่าการที่มือสั่นหรือกายสั่น เกิดจากการใช้กำลังกายช่วยเหลือหรือเกิดจากอุพเพงคาปิติอันเป้นผลของสมาธิ
ตอบ ถ้ามันสั่นแรงก็แสดงว่าเกิดขึ้นเอง และถ้ามันเกิดขึ้นแล้วก็จะสั่นอยู่อย่างนั้นแหละ หากไม่ขึ้นไปฌาน ๓ หรือลงมาฌาน ๑ ก็ไม่หยุด
๖. ถาม ขณะทำภาวนาถ้ามีทุกขเวทนาหรือปวดขึ้นจะละคำภาวนามากำหนดรู้ความปวดหรือไม่ต้องสนใจความปวด ยังคงท่องคำภาวนาต่อไปอย่างไหนจึงจะดี
ตอบ เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ต้องไปกำหนดหรอก มันรู้ของมันเอง เมื่อรู้แล้วก็จะละเสียถึงเราจะยังไม่ขึ้นวิปัสสนาเราก็ละได้ หรือจะใช้ขันติคือความอดทนเอาก็ได้ ให้มีความอดทนโดยไม่ถอยไม่ออกแม้ปวดจนน้ำตาไหลก็ช่างมัน เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นตรัสรู้ทุกข์ต้องทุกข์ถึงที่สุดจึงจะพบนิพพานได้ จะนั่งให้สบายจนถึงนิพพานนั้นไม่มีหรอก ส่วนคำถามที่ว่าถ้ามันปวดแล้วไม่ต้องไปสนใจความปวดแต่ท่องคำภาวนาต่อไปดีหรือไม่ อันนั้นจิตมันไม่ฟังหรอก เพราะมันรู้ว่ากำลังปวดอยู่ จิตมันรู้แทนกาย กายมันไม่รู้หรอกว่ามันปวด ระหว่างจิตกับกาย มันต่างโง่ด้วยกันทั้งสิ้น จิตคิดว่ากายเป็นตัวมัน กายหรือรูปก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้ความเจ็บปวด ถึงเอาขวามมาฟันขาดสองท่อน กายก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้ความเจ็บปวด เพราะไปยึดเอากายมาเป็นของตน เป็นอุปาทานที่จิตยึดถือมาหลายภพชาติ เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานต้องให้จิตละขันธ์ ๕ ให้ได้เสียก่อน เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ถ้าจิตหยุดสนใจปวดเมื่อไรปวดนั้นก็ดับทันที ฉะนั้นคำว่าให้จิตละคือ ให้หยุดความสนใจและคำว่าละนี้เป็นตัววิปัสสนา เมื่อจิตละได้ ทุกข์หรือสุขก็จะดับไป อย่างไรก็ตามเมื่อปวดมากๆ ละแล้วไม่ดับแม้จะบังสุกุลก็ไม่ดับ หากเป็นเช่นนี้ก็ให้อดทน ให้ทนจนถึงที่สุด เมื่อทนจนถึงที่สุดแล้ว ความเจ็บปวดก็เกิดขึ้นไม่ได้ ธรรมอันหนึ่งอันใดก็จะเกิดขึ้น เราจะได้เห็นธรรมดีๆ เช่น ตอนที่เราเข้าถึงฌาน ๔ มันปวดเหลือเกิน แต่ถ้าเราทนจนถึงที่สุดความปวดดับไปเมื่อเข้าถึงฌาน ๔ กายจะเริ่มเกร็งไปหมด แข็งไปทั้งตัว เริ่มชาจนไม่รู้สึกตัว ร่างกายตัวตนเราหายไปหมด เพราะจิตเกิดอุเบกขาเต็มที่
ตอนนั้นจิตจะอยู่ในอัปปนาฌาน ใครจะเอามีดเอาขวามมาฟันก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร เหมือนกายกับจิตแยกกันคนละส่วนเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น