วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสอน

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

เพราะพระธรรมวินัยคำสอนพระพุทธเจ้านี่ พระองค์ทรงแสดงไว้
ทั้งทางผิดและทางถูก ทางผิดพระองค์ก็แสดง ทางถูกก็ทรงแสดงไว้
เพื่อให้ผู้ฟังทั้งหลายนั้นได้รู้จักคัดเลือกว่า เรื่องนี้เป็นทางผิด
เป็นความรู้ผิดเห็นผิด ไม่ควรดำเนินตาม เช่นอย่างแสดงไว้ในตอนต้น
แห่ง “ พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ” เรียกว่า ทางอันเป็นที่ไปของดวงจิตนี้
สองเส้นนี้เป็นทางอันลามกซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลาย
มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นไม่ทรงดำเนินเดินตามทางสองสายนั้น

สายแรกได้แก่ “ กามสุขัลลิกานุโยค ” คือ ประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกิเลสกาม วัตถุกามทั้งหลายไม่รู้จักสร่างจักซา ไม่รู้จักเบื่อจักหน่าย
สายที่สองได้แก่ “ อัตตกิลมถานุโยค ” ประกอบตนในความเพียรอันไปในทางที่ผิด ย่อมไม่ได้บรรลุผลที่มุ่งหมายก็เป็นทุกข์เปล่าๆ เหลือแต่สู้ทุกข์ทนทรมานแต่ร่างกายสังขาร แต่ไม่ฝึกจิตใจให้เข้าถึงความสงบ ไม่ทำจิตให้สงบเป็น “ พื้นฐานแห่งปัญญา ” ก่อน

พิจารณาอะไรก็พิจารณาไปตามอาการของสิ่งนั้นๆ อาการเหล่านั้น บางทีก็ผิด บางทีก็ถูกไป จิตใจที่ไม่สงบไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มันก็ไหลไปตามอาการนั้นๆ อันหมู่นี้ล่ะได้ชื่อว่า มันเป็นความหลงความเมา ความไม่ได้ใคร่ครวญด้วยปัญญา แม้จะมีความรู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด เพียงแต่ฝึกตนไปตามสัญญาอันผิดๆ พลาดๆไปอย่างนี้นะ

เหมือนอย่างคนแต่ก่อนที่ปรากฏในตำราน่ะ พวกฤาษีดาบส
พากันพิจารณาเห็นว่า กิเลสนี้มันซ่อนอยู่ในร่างกายนี้แหละ
มันถึงได้ทำใจให้เป็นทุกข์เดือดร้อนไปอย่างนี้
ผู้ใดมีความเห็นอย่างนี้ก็ทรมานร่างกายนี้ให้บอบช้ำไป

เช่นในตำรานั้นกล่าวไว้ว่า ไปทุบเอาสะเก็ดหินคมๆ นั้นมากรีดตามร่างกาย เพื่อให้เป็นแผลเน่าเฟอะ ส่งกลิ่นเหม็นได้รับความเจ็บปวดทุกขเวทนา ถ้าหากว่าตนทำอย่างนี้แล้วจิตใจมันจะได้ไม่รื่นเริง จะไม่เพ่งไปในความรักความใคร่ เพราะว่ามันเจ็บมันปวด แล้วก็มองเห็นร่างกายนี่เป็นแผลเน่าเปื่อยผุพังไปอยู่อย่างนั้น ใจมันจะได้ไม่ประหวัดไปความรักความใคร่ ความเห็นของบางคนน่ะ ของพวกฤาษีดาบสน่ะเป็นอย่างนั้นแหละ ทรมานตนไปนั้นจนกว่าจะตาย จิตใจก็หาความสงบไม่ได้ ก็เสวยแต่ทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้น

นั่นเรียกว่า เป็นการเดินทางผิดอีกสายหนึ่ง เรียกว่า ทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า

บางคนก็นอนอยู่บนขวากบนหนามก็โดยเข้าใจผิด คิดว่ากิเลสมันซ่อนตัวอยู่กับรูปกับกายนี้แหละ เมื่อย่างร่างกายนี้ให้มันเหือดแห้งไป แล้วกิเลสมันก็จะเหือดแห้งไปตามกันอย่างนี้

พระบรมศาสดาของเราก็ได้ทรงทดลองทำดูเหมือนกันแหละ
ไอ้ปฏิปทาข้อนี้น่ะ แต่แล้วไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ก็จึงได้ทรงละเลิกเสีย เช่น อดนอนผ่อนอาหาร ฉันน้อยลงไปโดยลำดับ จนยังเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณได้

ดังนั้นพระองค์จึงละเลิกในการอดอาหาร เที่ยวบิณฑบาต
มาบำรุงอัตภาพร่างกายนี้ให้เป็นปกติ แล้วก่อนที่พระองค์จะเลิกละความเพียรอุกฤษฎ์อย่างว่านี้ ก็มีอุคหนิมิตมาปรากฏในพระทัยของพระองค์ที่ท่านกล่าวว่า " พิณสามสาย " นั่นแหละ
สายแรกดีดเข้าไปทีเดียวก็ขาด มันเคร่งเกินไป สายที่สองยานเกินไป ดีดเข้าไปก็เสียงดังไม่ไพเราะ ไม่เป็นที่พอพระหฤทัย
สายที่สามไม่เคร่งเกินไป และก็ไม่หย่อนยานเกินไป เมื่อดีดเข้าไปเสียงมันก็ดังไพเราะเพราะพริ้งดี

ทรงได้อุคหนิมิตดังนั้นแล้ว ก็จึงมาเลือกเอา “ พิณสายกลาง ”
ไม่เคร่งเกินไปและก็ไม่หย่อนยานเกินไป เทียบได้กับข้อปฏิบัติ
ที่จะเป็นไปเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ต้องดำเนินทางสายกลาง ไม่ให้หย่อนยานเกินไป เช่นการไปคลุกคลีอยู่ด้วยกามคุณทั้งห้า ยินดีพอใจอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส
อันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจต่างๆ อย่างนี้ ไม่ปล่อยจิตใจให้เพลิดเพลินไปในกามคุณนั้น เป็นผู้ทวนกระแสจิตเข้ามาภายในปัจจุบัน เพ่งให้ใจมันคลายอารมณ์น่ารักน่าชังทั้งหลายออกไป ให้มันคลายความหลงความเมาออกไป นี่ใจก็จะได้สงบลงเป็นปัจจุบัน แล้วปัญญาก็เกิดขึ้น สามารถที่จะรู้แจ้งในธรรมของจริงได้

เมื่อพระศาสดาทรงพิจารณาพิณสายที่สาม
คือ ไม่เคร่งไม่ยานเกินไปอย่างนี้แล้ว นั่นแหละพระองค์เจ้า
จึงทรงบำรุงอัตภาพร่างกายนี้ให้เป็นปกติ
ต่อจากนั้นก็ทรง “ บำรุงทางจิตใจ ” ได้แก่ การนั่งขัดสมาธิ
อยู่บนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น แล้วเจริญอานาปานสติ
ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน ทำใจให้เป็นกลาง วางใจให้เป็นหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งสมาธิและฌาน นี่เป็นทางที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้

การไปทรมานร่างกายให้ซูบให้ผอมลงไปนั่นได้เสวยแต่ทุกขเวทนา จิตใจไม่ปลอดโปร่งเลย จึงไม่เป็นทางตรัสรู้ได้

ต่อเมื่อมาบำรุงร่างกายให้เป็นปกติ ฉันก็ไม่ให้มากเกินไป
และก็ไม่ให้น้อยเกินไป ฉันพอดีๆ วันละมื้อ อย่างนี้ก็เรียกว่า
พออาหารมื้อเดียวนี้ก็จะสามารถบำรุงร่างกายนี้ให้อยู่ไปได้ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง เมื่อมองเห็นปฏิปทาอย่างนี้จึงได้เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเพียงมื้อเดียว และก็ไม่มากเกินไป ถ้าฉันมากไปอาหารทับธาตุ นั่งภาวนาจิตใจก็มีแต่ง่วงแต่เหงาหาวนอน ไม่เป็นอันภาวนา

เพราะฉะนั้นจึงทรงฉันพอดิบพอดี พอแก่กำลังไฟธาตุ
ที่มันจะย่อยได้ละเอียด เมื่อไฟธาตุมันย่อยอาหารได้หมดดีอย่างนี้ ร่างกายก็กระชุ่มกระชวยปลอดโปร่ง จิตใจก็พลอยปลอดโปร่งไปด้วย ไม่มากไปด้วยความง่วงเหงาหาวนอน
อันนี้เรียกว่า “ ทางมัชฌิมา ” (ทางสายกลาง) นะ ดำเนินอย่างนี้แหละ

.
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
“อุบายแก้ไขจริตนิสัยของตนให้ดีขึ้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...