วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

มาหาสติ

มหาสติ

.
สติ สมาธิ ปัญญา ประชุมลงที่จิตทั้งหมดเลย
แล้วประชุมอยู่โดยอัตโนมัติ ไม่ได้น้อมไป
แต่ก่อนที่มันจะเกิดอัตโนมัติ
แล้วอยู่ในจุดศูนย์กลางได้จริงๆ นี้นะ ต้องฝึกกัน
อันแรกเลยฝึกให้สติอัตโนมัติเกิด
ต่อมาฝึกสมาธิอัตโนมัติ
ต่อมาฝึกปัญญาอัตโนมัติ
ต้องฝึกให้มันอัตโนมัติขึ้นมา

ทีแรกไม่อัตโนมัติหรอก ทีแรกไม่เคยชินที่จะมีสติ
ต้องฝึกให้จิตเคยชินจะมีสติ สติอัตโนมัติก็เกิด
จิตไม่เคยชินที่จะมีสมาธิ ฝึกให้จิตมีสมาธิบ่อยๆ
จนจิตเคยชินกับสมาธิ สมาธิเกิดโดยไม่ได้เจตนา
ปัญญามันไม่มี ทีแรกจงใจน้อมลงไป
จงใจเรียนรู้กายเรียนรู้ใจ
ถ้ามันไม่ยอมเรียนรู้ คิดพิจารณาเข้าไปเลยยังได้เลย
ดีกว่าอยู่รู้ตัวอยู่เฉยๆ ไม่เดินปัญญา

งั้นเบื้องต้นอาจจะมีการเจือด้วยการคิด
ปัญญาในเบื้องต้นเรียก ( จินตามยปัญญา )
แต่ว่าฝึกไปเรื่อยนะ ฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ
แล้วก็น้อมจิตไปคิดพิจารณา
ต่อไปจิตเคยชินที่จะเดินปัญญา
เคยชินที่จะดูกายเป็นไตรลักษณ์
เคยชินที่จะดูจิตใจเป็นไตรลักษณ์
พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้วนะ
มันไปดูกายดูใจเป็นไตรลักษณ์เอง เป็นเอง
นี่ฝึกอย่างนี้เรื่อยจนมันอัตโนมัติ

สติไม่ได้เจตนาระลึกมันระลึกได้เอง
สมาธิไม่ได้เจตนาตั้งมั่นมันตั้งมั่นได้เอง
ปัญญาไม่ได้เจตนาค้นความพิจารณา
มันไปดูไตรลักษณ์เอง นี่เป็นอย่างนี้
สติระลึกรู้อะไร? ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ
สมาธิอยู่ที่ไหน? อยู่ที่จิต
สมาธิจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เห็นไหมมีสมาธิเป็นแกนอยู่นะ
สมาธิไม่ได้จ่ออยู่ที่รูปที่นามนะ
ถ้าสมาธิไปจ่ออยู่ที่รูปที่นามเมื่อไหร่
เรียก ( อารัมมณูปนิชฌาน )
เพ่งตัวอารมณ์เป็นสมถะทันทีเลย
เพราะงั้นจิตต้องถอนตัวออกมาเป็นคนดู
สติระลึกรู้รูป ระลึกรู้นาม โดยไม่เจตนา
ในขณะที่ระลึกรู้นามนะ
จิตไม่ถลำลงไปรู้ แล้วก็ไม่หลงไปที่อื่น
ถ้าหลงไปที่อื่นเรียกว่าฟุ้งซ่าน ถลำลงไปนี่ไปเพ่ง
งั้นจะดูอย่างไม่เผลอไป ไม่เพ่งไป ไม่ฟุ้งไป ไม่เพ่ง
สักว่า ( รู้ ) ว่า ( เห็น ) จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่
ตัวนี้ตัวสำคัญเพราะว่าเวลาอริยมรรคเกิด
จะเกิดตรงจิตตั้งมั่นนี่แหละไม่ไปเกิดที่อื่นหรอก
ไม่ไปเกิดที่รูปที่นามอะไรหรอก เกิดเข้ามาที่จิตนี้แหละ

เพราะงั้นเราต้องมีจิตที่เป็นผู้รู้นี้ขึ้นมาให้ได้
วิธีให้ได้จิตรู้ก็คือ รู้ทันจิตคิดนั่นแหละง่ายที่สุดนะ
วิธีรู้ทันจิตคิดเบื้องต้น ถ้าอินทรีย์เราไม่แก่กล้า
ไปรู้ทันมันไม่ค่อยจะรู้ก็ช่วยมันหน่อย
โดยการหาอารมณ์กรรมฐานมาให้มันอยู่ ให้จิตมันอยู่
ถ้าจิตหนีไปจะได้รู้ไวๆ
อยู่กับพุทโธจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้ทัน
อยู่กับพุทโธ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน อย่างนี้ก็ได้
อยู่กับลมหายใจ จิตหนีไปแล้วก็รู้ทัน อย่างนี้ก็ใช้ได้
ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปแล้วรู้ทัน อย่างนี้ก็ใช้ได้
พอรู้ทันบ่อยๆ จิตจะตั้งมั่นมาเป็นผู้รู้ ไม่ไหลไป

นักปฏิบัตินะ
ในขั้นปุถุชน ในขั้นโสดาฯ ในขั้นสกิทาคาฯ อะไรนี่
เวลาปฏิบัติเนี่ยถลำรู้แทบทั้งนั้นแหละ
นานๆ ตั้งมั่นขึ้นรู้ทีนึง
พวกเราสังเกตไหมเวลาภาวนาจิตเราจะถลำลงไปดู
ไปรู้ลมหายใจ จิตจะถลำไปอยู่ที่ลมหายใจ
ไปดูท้อง จิตจะถลำไปอยู่ที่ท้อง
ไปท่องพุทโธ จิตถลำไปอยู่กับพุทโธ
ยังดี บางทีหนีไปอยู่ที่อื่นด้วยซ้ำไป งั้นจิตไม่ตั้งมั่น
หรือเวลาอยากไปดูจิต
งานแรกที่ทำนะคือส่งจิตไปเที่ยวหา
ไปควานๆ อยู่ข้างในนะว่าจะดูอะไรดี
ใครเคยควานข้างในบ้าง หาที่ว่าจะดูอะไรดี หาไม่เจอ
ความจริงส่งจิตไปดูนะ จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว
จิตถลำลงไปแล้ว นี่ถ้ารู้ทันมันจะตั้ง
ถ้าถึงพระอนาคาฯ นี่มันเด่นขึ้นมา ไม่ไปอย่างนั้นแล้ว
ถ้าดูการปฏิบัติ ถ้าจิตยังถลำๆ นี่ยังไม่ถึงตรงจุดนี้

เพราะงั้นพระอนาคาฯนี่สมาธิบริบูรณ์
เด่นดวงอยู่อย่างนั้น แต่ปัญญายังไม่พอ
ศีลบริบูรณ์แล้ว สมาธิบริบูรณ์แล้ว แต่ปัญญายังไม่พอ
เพราะมัวแต่ตั้งมั่นเด่นดวงแล้วรักษาอยู่ตรงนี้
ไม่ยอมเดินปัญญาต่อ
วิธีจะเดินปัญญาต่อ มีสติรู้รูปรูปนามนั่นแหละ
รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอย่างนี้แหละ ก็เดินปัญญาต่อไป
พอปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา
ปัญญาเบื้องต้นถ้าจิตมันรู้ตัวแล้วมันไปเฉย
ต้องช่วยมันพิจารณา กระตุ้นให้มันดูไตรลักษณ์ให้ได้
พอมันดูไตรลักษณ์เป็นแล้วอย่าคิดเรื่องไตรลักษณ์อีก
โยนความคิดทิ้งไปแล้วรู้อย่างที่มันเป็น
คนละขั้นกันนะ เบื้องต้นอาจจะช่วยคิด
แต่ตอนที่จิตเดินวิปัสสนาแท้ๆ ไม่ช่วยคิดแล้ว จิตรู้เอง
คิดเมื่อไหร่ตกจากวิปัสสนาเมื่อนั้น
การคิดเรื่องไตรลักษณ์นะมีปัญญาคิดเรื่องไตรลักษณ์เป็นญานตัวหนึ่งในญาน ๑๖
เป็นญานที่ชื่อ สัมมัสสนญาน
เป็นญานตัวที่ ๓ คิดเรื่องไตรลักษณ์
ญานที่ ๔ ชื่อ อุทยัพพยญาณ ขึ้นวิปัสสนา

วิปัสสนานี้ขึ้นจาก อุทยัพพยญาณ
เห็นความเกิดดับของรูปนาม
ไม่ได้คิดเรื่องไตรลักษณ์แล้ว แต่เห็นไตรลักษณ์จริงๆ
เห็นแล้วอินทรีย์ยังอ่อนอยู่
จิตเคลื่อนไป วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น
เพราะงั้นวิปัสสนูปกิเลส
เกิดตอนที่เราเริ่มวิปัสสนาใหม่ๆ สมาธิไม่พอ
งั้นสมาธิความตั้งมั่นนี่สำคัญมากเลย
ไม่ใช่สมาธิสงบเคลิ้มง๊อกๆ แง๊กๆ นะ
ไม่ใช่สมาธิเห็นนิมิตนะ พวกนั้นใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้
สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ตัวนี้สำคัญมากเลย
เพราะงั้นพยายามฝึกนะ ทุกวันพยายามส๊อนสอนนะ
พยายามสอนพวกเราปลุกให้พวกเราเป็นผู้รู้ขึ้นมา
ตอนนี้ใครเจอผู้รู้ได้บ้างแล้วมีไหม ยกมือหน่อยซิ
รู้เป็นคราวๆ ไม่รู้ทั้งวันหรอก
รู้อยู่ทั้งวันเป็นภูมิพระอนาคาฯแล้ว
พวกเรามีแต่ผู้คิดเป็นหลัก นึกออกไหม มีผู้รู้แทรก
ใครเป็นผู้รู้แทรกเป็นช่วงๆ บ้าง
ต้องถามใหม่อย่างนี้ อย่างนี้เยอะเลย
ถ้ามีผู้รู้แทรกเข้ามาแล้วเห็นสภาวะมันเปลี่ยนไปเรื่อย
ตัวนี้เคยเห็นไหมเปลี่ยนไปเรื่อย นี่เราเดินปัญญาอยู่
ทำวิปัสสนาเห็นเกิดดับ

ฝึกไปนะทีแรกสติระลึกรู้รูปนาม
แต่จิตตั้งมั่นไม่ถลำไปรู้ จิตก็ทรงสติปัญญามากขึ้นๆ นะ
ตอนที่อริยมรรคจะเกิดเนี่ยไม่ได้ไปรู้รูปนามหรอก
จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ
ตัดการรับรู้ที่แผ่กว้างออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ตัดการรับรู้อันนั้นออกแล้วรวมลงมาที่ใจอันเดียว
เห็นไหมสมาธิสำคัญนะ
ที่เราฝึกให้มีตัวรู้ๆ เวลาเกิดอริยมรรคมันมาเกิดที่ตัวรู้นี่แหละ
ไม่ไปเกิดที่อื่นหรอก
ถ้าเราไม่มีตัวรู้ มีแต่ตัวร่อนเร่ ไปเกิดที่โน่นที่นี่
นั่นเรียกเวียนว่ายตายเกิด ไปเกิดที่อื่น
งั้นเราฝึกให้มีตัวรู้ขึ้นมา
ท่านจึงสอนในอภิธรรมสอนสัมมาสมาธิ
เป็นภาชนะที่รองรับองค์มรรคทั้ง ๗ ที่เหลือเข้าด้วยกัน
เป็นที่ประชุมขององค์มรรค
งั้นจิตประชุมที่ไหน? ประชุมที่จิต
ประชุมด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิ จิตที่มันตั้งมั่น
แล้วสติเกิดที่ไหน? ที่จิต
สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ
สัมมาทั้งหลายแหล่เกิดลงที่จิตอันเดียวเลย
ประชุมลงที่จิตอันเดียวเลย
สัมมาวาจาไม่ได้ไปอยู่ที่ปากแล้ว แต่อยู่ที่จิต
สังเกตไหมก่อนปากพูดจิตพูดก่อน
สัมมาวาจาตอนที่อริยมรรคเกิดมันพูดอะไรรู้ไหม?
มันพูดอย่างนี้ “ ” ได้ยินไหม
เนี่ยสัมมาวาจา ถ้ายังอ้าแง๊บๆๆๆ เนี่ยมิจฉาวาจานะ
งั้นประชุมลงที่จิตเลย
องค์มรรค ๘ ประการรวมลงที่จิตอันเดียว
ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธินั่นเองนะ
ตรงนี้อัตโนมัติทั้งหมดเลย

สติระลึกรู้อยู่แค่จิตโดยไม่เจตนาระลึก
สมาธิตั้งมั่นอยู่กับจิตโดยไม่เจตนาตั้งมั่น
ปัญญานี่หยั่งซึ้งลงไปในจิต
เห็นการทำงานภายในจิตอีกโดยไม่เจตนา
สติ สมาธิ ปัญญา รวมลงที่เดียวนี้เอง อริยมรรคก็เกิด ถ้ายังกระจายๆ อยู่ไม่เกิดอริยมรรค

อริยมรรคมีองค์ ๘
ถามว่าอริยมรรคมีเท่าไหร่ มี ๑ เท่านั้นนะ
เวลาเกิดอริยมรรคมี ๑ เท่านั้น
แต่มีองค์ประกอบ ๘ อย่าง
มรรคไม่ได้มี ๘ มรรคนะ
แต่ว่าการเกิดอริยมรรคจะเกิด ๔ ครั้ง
โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามีมรรค อรหัตมรรค
มรรคแต่ละครั้งเกิด ๑ ขณะจิตเท่านั้น ไม่เกิด ๒ ขณะจิตด้วย
งั้นที่เราเจริญสติอยู่ตรงนี้ เรียกว่าเจริญมรรคอยู่ไหม?
เห็นไหมเราใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา
วันๆ หนึ่งไม่รู้กี่ล้านครั้งใช่ไหม เยอะแยะไปหมดเลย ไม่ใช่ ๑ ขณะจิต เพราะงั้นตอนที่เราทำอยู่ตรงนี้
ไม่เรียกว่าเจริญมรรคอยู่หรอก

ตอนที่มรรคเกิดนั้นเกิดขณะเดียว แว๊บเดียวเท่านั้นเอง
ตอนที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้นะ
ถ้าจะใส่ชื่อ เรียกว่า ( บุพภาคมรรค ) เบื้องต้นของมรรค
ยังไม่ใช่ตัวมรรคแท้
มรรคตัวนี้ยังมักมาก อย่างศีลก็ส่วนหนึ่งใช่ไหม สมาธิก็ส่วนหนึ่ง ปัญญาก็ส่วนหนึ่ง
ยังแยกกันอยู่ ยังไม่ประชุมลงที่เดียวกันที่จิต
แต่อาศัยการที่ปฏิบัตินี้แหละ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วฝึกไปเรื่อยๆ

สติชำนาญขึ้น จิตตั้งมั่นขึ้น
ความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามมากขึ้นๆ
สุดท้ายมันจะไปประชุมลงที่จิตผู้รู้นั่นเอง
พวกเราค่อยๆ ฝึก อย่างแรกเลยเราฝึกให้มีจิตผู้รู้ก่อน
จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จะได้จิตผู้รู้
มีจิตผู้รู้แล้วมีสติระลึกรู้รูป ระลึกรู้นาม
ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึก
รู้สึกอย่างที่มันเป็น ไม่ได้จงใจนะ ค่อยๆ ฝึก
แต่เบื้องต้นอาจจะต้องจงใจระลึกไว้
ไม่งั้นมันอาจจะไม่ระลึกเลย มันจะหนีไปที่อื่นซะ
เพราะงั้นเบื้องต้นอาจจะต้องจงใจก่อน
จงใจที่จะระลึก จงใจที่จะรักษาจิตให้ตั้งมั่น
จงใจที่จะคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดการเจริญปัญญานะ
เบื้องต้นอาจจะต้องจงใจสำหรับบางคน
คนที่อินทรีย์แก่กล้าแล้ว อย่างชาติก่อนๆ เค้าทำมาเยอะแล้วไม่ต้องทำอะไรมากนะ
คนมาจุดพลุใกล้ๆ ตูม ตกกะใจ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้ว
เห็นความตกใจเกิดขึ้นดับไป ต่อหน้าต่อตา
สติระลึกรู้ความตกใจ นี่สติระลึกแล้วนะ

จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ นี่สมาธิเกิดแล้ว
เห็นเลยความตกใจเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่ปัญญาเกิดแล้ว
เห็นไหม เค้าเป็นของเค้าได้ เพราะว่าเค้าเคยฝึก
ถ้าเราไม่เคยฝึก เราก็ต้องฝึกเอา
ไม่มีใครได้ของฟรีหรอก ต้องทำเอาทั้งสิ้นเลย
พอสู้ไหม พอสู้ไหม
วันนี้ทำไมเทศน์ดุเดือดตั้งแต่เช้าเนาะ
ต้องมีพวกภาวนาเก่งๆ ล่ะ มีพวกภาวนาเก่งๆ มา มาเรียน

.
สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๑
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช


ผู้รวบรวมบทความ   บ.ใบไม้☘🍃☘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...