วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การเจริญสติปัฏฐาน ๔

มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจบุญบาป ตกแต่งให้มาเกิด เมื่อเกิดมาแล้วปัจจัยนิสัยเดิมมันตามมาคร่า ตามอำนาจนิสัยเดิม แล้วใจของเราก็ชอบเสียด้วยเพราะว่าติดในความเคยชินในความเป็นทาสของมัน

ฉะนั้นเมื่อจะรักษาศีล ก็มักจะอึดอัด ลังเลใจ เพราะกิเลสเป็นผู้บัญชาการอยู่ จิตเราจึงเดือดร้อนเพราะถูกกีดกันด้วยการรักษาศีล ดังนั้นศีลจึงให้โทษเป็นบาปแก่ผู้ขอสมาทานศีล จิตก็จะคอยแต่กาลเวลาให้หมดเขตของการรักษาศีล

แม้ผู้บวชเป็นเณร เป็นพระก็เข้าทำนองนี้ ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจถึงการรักษาศีล หรือการปฏิบัติธรรมต่างๆ ว่าทุกอย่างนั้นสำเร็จด้วยใจ ด้วยความตั้งใจในการรักษาธรรมนั้นๆ

ก่อนจะปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงควรมีศีลเป็นที่ตั้งเสียก่อน เพื่อให้กาย วาจา เกิดความบริสุทธิ์เสียก่อน แล้วใจจะบริสุทธิ์ตามมาอีกทีหนึ่ง จะทำให้การปฏิบัติสติปัฏฐานมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น.

สติปัฏฐาน ๔ เป็นโลกุตตรธรรมและเป็นที่อบรมสติได้อย่างดี ประกอบด้วย

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณากายนี้สักแต่ว่ากาย มิใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา

เวทนานุสติปัฏฐาน ให้พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้สักว่า เวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว เป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่า ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

สติปัฏฐาน ๔ ถึงแม้ท่านจะจัดเข้าเป็นโลกุตตรธรรมแล้วก็ตาม ก็ยังต้องหมายเอาตัวของเราทุกๆ คนที่เป็นโลกียอยู่นี่เอง หมายความว่า การจะปฏิบัติให้ได้ สติปัฏฐาน ๔ ได้ก็จำต้องเริ่มจากที่กายใจของเรา เหมือนกับต้องมีสิ่งสมมุติก่อน แล้วจึงจะพัฒนาเป็นสู่สิ่งที่เป็นอนัตตา

ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานแต่ละข้อ ขอให้พึงกำหนดไว้ในใจก่อนว่า สติกับใจอยู่ด้วยกัน สติอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น ใจอยู่ตรงไหนสติก็อยู่ตรงนั้น ฐานที่ตั้ง-ที่ฝึกอบรมสติ คือสติปัฏฐาน๔ ได้แก่ กาย-เวทนา-จิต-ธรรม นั่นเอง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...