วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กายวิเวกสำคัญมาก

"กายวิเวกสำคัญมาก"

วิธีปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ทองรัต ท่านเจ้าคุณอุบาลี นี่หลักนี้ อย่าทิ้ง แน่นอนจริงๆ ถ้าทำตามท่าน ถ้าปฏิบัติตามท่านเห็นตัวเองจริงๆ ท่านอาจารย์เหล่านี้เรื่องศีลท่านพยายามรักษาให้แน่นอน ท่านไม่ให้ข้ามการเคารพครูบาอาจารย์ การเคารพข้อวัตรปฏิบัตินั้น ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ ถ้าท่านว่าผิดให้หยุดก็หยุด ชื่อว่าทำเอาจริงๆจังๆ ให้เห็นให้เป็นขึ้นในใจ ท่านอาจารย์บอกอย่างนี้ ดังนั้นพวกลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเคารพยำเกรงในครูบาอาจารย์มาก เพราะเห็นตามรอยของท่าน

ลองทำดูซิทำดังที่อาตมาพูด ถ้าเราทำมันก็เห็นก็เป็น ทำไมจะไม่เป็นเพราะเป็นคนทำคนหา อาตมาว่ากิเลสมันไม่อยู่หรอกถ้าทำถูก เรื่องของมันเป็นผู้ละพูดจาน้อย เป็นคนละทิฏฐิมานะทั้งหลายทั้งปวง คนพูดผิดก็ฟังได้คนพูดถูกก็ฟังได้หมด พิจารณาตัวเองอยู่อย่างนี้ อาตมาว่าเป็นไปได้ทีเดียวถ้าพยายาม แต่ว่าไม่ค่อยมีนักปริยัติที่มาปฏิบัติยังมีน้อยอยู่ คิดเสียดายเพื่อนๆทั้งหลายเคยแนะนำให้มาพิจารณาอยู่

ถ้าปฏิบัติแล้ว จะรู้ซึ้งรู้แจ้งรู้ชัด

ท่านมหามาที่นี่ก็ดีแล้ว เป็นกำลังอันหนึ่งแถวบ้านเรา บ้านไผ่ใหญ่ หนองลัก หนองขุ่น บ้านโพนขาวล้วนแต่เป็นบ้านสำนักเรียนทั้งนั้น เรียนแต่ของที่มันต่อกันไม่ตัดสักที เรียนแต่สันตติ เรียนสนธิต่อกันไป ถ้าเราหยุดได้เรามีหลักวิจัยอย่างนี้ดีจริงๆ มันไม่ไปทางไหนหรอก มันไปอย่างที่เราเรียนนั่นแหละ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติผู้เรียนไม่ค่อยรู้ ถ้าปฏิบัติแล้วก็รู้ซึ้งสิ่งที่เราเคยเรียนมาแจ้งออกชัดออกเริ่มปฏิบัติเสียให้เข้าใจอย่างนี้

พยายามมาอยู่ตามป่าที่กุฏิเล็กๆ นี้มาฝึกมาทดลองดูบ้างดีกว่า เราไปเรียนปริยัติอย่างเดียวให้พูดอยู่คนเดียว ดูจิตดูใจเราคล้ายๆ กับว่าจิตมันวางเป็นปกติ จิตถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติเช่นมันคิดมันนึกต่างๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงเราต่อไประวังให้ดี ให้รู้มันไว้ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติแล้วไม่เป็นสัมมาปฏิปทาหรอก มันจะก้าวไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ของพวกนี้มันปรุงนั่นแหละเป็นจิตสังขาร ถ้ามันดีก็ดี ถ้ามันชั่วก็ชั่ว มันเกิดกับจิตของเรา อาตมาว่าถ้าได้จ้องดูมันอยู่อย่างนี้รู้สึกว่าสนุก ถ้าจะพูดเรื่องนี้อยู่อย่างเดียวแล้วสนุกอยู่ตลอดวัน

เมื่อรู้จักเรื่องวาระของจิตก็เห็นมีอาการอย่างนี้ เพราะกิเลสมันอบรมจิตอยู่ อาตมาเห็นว่าจิตนี้เหมือนกับจุดจุดเดียวเท่านั้น อันที่เรียกว่าเจตสิกนั่นเป็นแขก แขกมาพักอยู่ตรงจุดนี้ คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนโน้นมาเยี่ยมเราบ้าง มาพักอยู่ตรงนี้เราจึงเรียกพวกนั้นที่ออกจากจิตของเรามาเป็นเจตสิกหมด

มีสติรู้ตื่นอยู่เฝ้าดูจิต

ทีนี้เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหนมีที่นั่งที่เดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธตัวตั้งมั่นอยู่ นี่ทำความรู้นี้ไว้จะได้รักษาจิตเรา นั่งอยู่ตรงนี้แล้วแขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็กๆ โน้นมาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลยพุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะแขกที่จรมาปรุงมาแต่งต่างๆ นานาให้เราเป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่าเจตสิก มันจะเป็นอะไรจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เองเราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้วมันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่งครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบแต่ผู้นี้นั่งอยู่ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้งเพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคนพวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้นมันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละเพียงเท่านี้

อาตมาว่าธรรมนั้นดูตรงนี้ก็เห็นไปหมดได้ พูดได้ดูได้พิจารณาอยู่คนเดียวพูดธรรมะก็อย่างนี้แหละ อาตมาพูดอย่างอื่นไม่เป็น พูดก็พูดไปอย่างนี้ทำนองนี้นี่ก็เป็นแต่เพียงพูดให้ฟังเท่านั้น

ทีนี้ให้ไปทำดู ถ้าไปทำมันจะเป็นอย่างนั้นๆ มีหนทางบอก ถ้ามันเป็นอย่างนั้นให้ทำอย่างนั้นก็ไปทำดูอีก ถ้าไปทำดูอีกมันเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ต้องแก้ โน่นแหละจึงจะมีที่บอก ในเมื่อเดินสายเดียวกันมันต้องเป็นในจิต ท่านมหาแน่นอนถ้าไม่เป็นอย่างนั้นมันต้องเกิดขัดข้อง ขัดข้องก็ต้องจี้จุด เมื่อพูดตรงนี้มันไปถูกจิตท่านมหามันก็รู้จักแก้ ถ้ามันติดอีกท่านผู้แนะนำก็จะบอก เพราะตรงนี้ท่านก็เคยติดมาแล้วก็ต้องแก้อย่างนั้นมันรู้เรื่องกันก็พูดกันได้

เช่นเดียวกับอารมณ์ คือเสียงได้ยินเป็นอย่างหนึ่งเสียงเป็นอย่างหนึ่ง เรารับทราบไว้ไม่มีอะไร เราอาศัยธรรมชาติอย่างนี้แหละมาพิจารณาหาความจริงจนใจมันแยกของมันเอง พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่เอาใจใส่เอง มันจึงเป็นอย่างนั้นได้ เมื่อหูได้ยินเสียงดูจิตของเรามันพัวพันไปตามไหม มันรำคาญไหม เท่านี้เราก็รู้ ได้ยินอยู่แต่ไม่รำคาญ ฉันอยู่ที่นี่เอากันใกล้ๆ มิได้เอาไกลจะหนีจากเสียงนั้นหนีไม่ได้หรอก ต้องหนีวิธีนี้จึงจะหนีได้ โดยเราฝึกจิตของเราจนมั่นอยู่ในสิ่งนี้ วางสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่วางแล้วนั้นก็ยังได้ยินอยู่ได้ยินอยู่แต่ก็วางอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกวางอยู่แล้วมิใช่จะไปบังคับให้มันแยกมันแยกเองโดยอัตโนมัติ เพราะการละการวางจะอยากให้มันไปตามเสียงนั้นมันก็ไม่ไป

เมื่อเรารู้ถึงรูปเสียงกลิ่นรสทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสามัญลักษณะคือ อนิจจังทุกขังอนัตตาหมดทั้งนั้น เมื่อได้ยินครั้งใดก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่จิตของเราจะไม่มีการงานสติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าท่านมหาทำจิตให้ถึงอันนี้แล้วถึงจะเดินไปทางไหนมันก็ค้นคว้าอยู่ นี่เป็นธรรมวิจัยหลักของโพชฌงค์เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเองแก้ปลดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่มีอะไรจะมาใกล้มันได้ มันมีงานทำของมันเอง

จิตที่ตื่นรู้เบิกบานเป็นพุทธะ

นี่เรื่องอัตโนมัติของจิตที่เป็นอยู่ไม่ได้แต่ง มันหัดเบื้องแรกมันเป็นเลย ถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ท่านมหาจะมีอาการอย่างหนึ่งแปลกขึ้นมาคือ เวลาไปนอนตั้งใจแล้วนอนเคยนอนกรนหรือนอนละเมอกันฟันหรือนอนดิ้นนอนขวาง ถ้าจิตเป็นอย่างนี้แล้วสิ่งเหล่านั้นฉิบหายหมด ถึงจะหลับสนิทตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการคล้ายกับไม่ได้นอน เหมือนไม่ได้หลับแต่ไม่ง่วง เมื่อก่อนเราเคยนอนกรนถ้าเราทำจิตใจให้ตื่นแล้วไม่กรนหรอก จะกรนอย่างไรคนไม่ได้นอนกายมันไประงับเฉยๆ ตัวนี้ตื่นอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนตื่นอยู่ทุกกาลเวลา คือพุทโธผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานผู้แจ้งผู้สว่าง ตัวนี้ไม่ได้นอน มันเป็นของมันอยู่ไม่รู้สึกง่วง ถ้าเราทำจิตของเราอย่างนี้ไม่นอนตลอด ๒-๓ วัน บางทีมันง่วงร่างกายมันเพลีย พอง่วงเรามานั่งกำหนดเข้าสมาธิทันทีสัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีแล้วลืมตาขึ้น จะรู้สึกเท่ากับได้นอนตลอดคืนและวัน

เรื่องการนอนหลับนี่ ถ้าไม่คิดถึงสังขารแล้วไม่เป็นไร แต่ว่าเอาแต่พอควร เมื่อนึกถึงสภาวะของสังขารความเป็นไปแล้วก็ให้ตามเรื่องของมัน ถ้ามันถึงตรงนั้นแล้วไม่ต้องนำไปบอกหรอก มันบอกเองมันจะมีผู้จี้ผู้จดถึงขี้เกียจก็มีผู้บอกให้เราขยันอยู่เสมอ อยู่ไม่ได้หรอกถ้าถึงจุดมันจะเป็นของมันเอง ดูเอาสิอบรมมานานแล้วอบรมตัวเองดู

กายวิเวกสำคัญมาก

แต่ว่าเบื้องแรกกายวิเวกสำคัญนะ เมื่อเรามาอยู่กายวิเวกแล้วจะนึกถึงคำพระสารีบุตรเทศน์ไว้เกี่ยวกับกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก* กายวิเวกเป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก แต่บางคนพูดว่าไม่สำคัญหรอกถ้าใจเราสงบแล้วอยู่ที่ไหนก็ได้ จริงอยู่แต่เบื้องแรกให้เห็นว่ากายวิเวกเป็นที่หนึ่งให้คิดอย่างนี้ วันนี้หรือวันไหนก็ตามท่านมหาเข้าไปนั่งอยู่ในป่าช้าไกลๆ บ้าน ลองดูให้อยู่คนเดียวหรือท่านมหาจะไปอยู่ที่ยอดเขายอดหนึ่งซึ่งเป็นที่หวาดสะดุ้งให้อยู่คนเดียวนะ เอาให้สนุกตลอดคืนแล้วจึงจะรู้จักว่ามันเป็นอย่างไร

เรื่องกายวิเวกนี่ แม้เมื่อก่อนอาตมาเองก็นึกว่าไม่สำคัญเท่าไร คิดเอาแต่เวลาไปทำดูแล้วจึงนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้ไปหากายวิเวกเป็นเบื้องแรก เป็นเหตุให้จิตวิเวก ถ้าจิตวิเวกก็เป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก เช่นเรายังครองเรือนกายวิเวกเป็นอย่างไร พอกลับถึงบ้านเท่านั้นต้องวุ่นวายยุ่งเหยิงเพราะกายไม่วิเวก ถ้าออกจากบ้านมาสู่สถานที่วิเวกก็เป็นไปอีกแบบหนึ่ง

อาจารย์ช่วยชี้แนะผิดถูก

ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า เบื้องแรกนี้กายวิเวกเป็นของสำคัญ เมื่อได้กายวิเวกแล้วก็ได้ธรรม เมื่อได้ธรรมแล้วก็ให้มีครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟัง คอยแนะนำตรงที่เราเข้าใจผิด เพราะที่เราเข้าใจผิดนั่นเหมือนกับเราเข้าใจถูกนี่เอง ตรงที่เราเข้าใจผิดแต่นึกว่าถูกถ้าได้ท่านมาพูดให้ฟังจึงเข้าใจว่าผิด ที่ท่านว่าผิดก็ตรงที่เรานึกว่าถูกนั่นแหละอันนี้มันซ้อนความคิดของเราอยู่

หลวงพ่อชา สุภัทโท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นั่งสมาธิแล้วชา นั่งสมาธิแล้วชา

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี...